เส้นบางๆ ที่กั้นระหว่าง ‘ชีวิตจริง’ กับ‘คอสเพลย์’

เพราะการแต่งกายนอกจากจะต้องถูกกาลเทศะ คือถูกที่ ถูกเวลา ยังต้องมีมารยาท ไม่ดูถูกคนที่มีสไตล์ที่แตกต่าง เรามาร่วมหาคำตอบไปพร้อมๆ กัน!
18.09.2019
4291
Shares

ถ้าถามว่าทำไมบริบทจึงสำคัญ เพราะมันมีเส้นบางๆ กั้นระหว่าง 'ชีวิตจริง' กับ 'คอสเพลย์'

ผมเชื่อว่าสไตล์และแฟชั่นนั้น ไม่เคยแยกขาดจากสังคมและความเป็นมนุษย์ คนที่มีสไตล์ในการใช้ชีวิตหรือการแต่งกายที่ผมว่าน่าสนใจนั้น นอกจากจะต้องถูกกาลเทศะ คือถูกที่ถูกเวลา ไม่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้ผู้พบเห็นแล้ว ยังต้องมีทัศนคติที่ให้เกียรติคนอื่น มีมารยาท ไม่ดูถูกคนที่มีสไตล์ที่แตกต่าง (ไม่ขิงน่ะ พูดง่ายๆ เปลืองน้ำลายและไม่น่ารัก)

และที่สำคัญคือต้องแสดง‘ตัวตน’ ออกมาได้อย่างฉลาด เนียน และ blend in ไปกับสังคมที่เขาอยู่ โดยไม่เกิดคำถามว่าไอ้หมอนี่ไปเช่าชุดคอสตูมพวกนี้มาใส่ทำไม?! 

จากภาพยนตร์เรื่อง Jumanji (1995) การแสดงของ Robin William นั้นชั้นครู ที่เอามาเป็นตัวอย่างนี้ ผมไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นแต่อย่างใด แต่ภาพนี้ (และสีหน้าของคนด้านหลัง) คือตัวอย่างอารมณ์ที่เห็นคนแต่งกายแบบ ‘หลงเวลา’ และแน่นอน มันคือสีหน้าของผมเช่นกันยามที่เห็นคนใส่สูทสามชิ้นเต็มยศในวันหยุด (ที่ไม่ได้มีงานแต่งต้องไปต่อ) หรือเวลาไปงานแฟชั่น และแล้วเห็นคนที่แต่งสูทเต็มในสีและทรงที่ดูก็รู้แล้วว่า เขาไม่ได้แต่งแบบนี้ในชีวิตจริง

ช่วงหลังๆ มานี้ เห็นคนหันมาใส่สูทผูกไทกันเยอะครับ ผมพบว่าคนที่เริ่มสนใจการแต่งกายแบบ Sartorial มักจะเปลี่ยนทุกอย่างแบบพลิกฝ่ามือ เหมือนได้ใหม่ลืมเก่า พูดง่ายๆ คือล้างตู้เสื้อผ้าเดิมแล้วเปลี่ยนยกชุด วันหยุดสุดสัปดาห์หันมาใส่ Belgian Loafers หนังกลับ กับสแลคเทา และโปโลถักหรือเชิ้ตลินินลายทาง เห็นแล้วอยากจะถามกลับไปว่า คุณยังจำยีนส์ได้ไหม สีน้ำเงินมอมๆ คู่ขาที่เคยลุยกันไปทุกวีคเอนด์ ยังจำ Converse ได้หรือเปล่า ที่เคยอยู่ติดเท้าแม้ในวันฝนพรำ ยังจำเสื้อยืดขาวหรือเสื้อวงได้ไหม เพื่อนคู่ใจสมัยที่ knit polo ยังไม่ฮิต และกระแส Sartorial ยังไม่บูม

ผมเองก็เคยเป็นครับ มือใหม่หัดใส่สูท แต่งตามคน Sartorial ที่เห็นใน IG ไม่ผิดนะครับ หากจะศึกษาสิ่งใด วิธีเรียนรู้ที่เร็วที่สุดคือลงมือลอกเลียนแบบจากยอดฝีมือ แต่จุดตัดมันอยู่ที่หากลอกโดยไม่คิดเรียนรู้ว่าจะแสดงเอกลักษณ์ของตัวเองออกมายังไง มันก็เป็นได้แค่ลุค ‘สำเร็จรูป’ ที่แต่งกันเกลื่อนตลาด
และเมื่อทุกคนแต่งตัวเหมือนกัน มันไม่อินสไปร์ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าตัวเอง‘ฝืด’ มาก ยิ่งกลับบ้านไปเจอเสื้อฮาวายวินเทจที่เคยใส่ เจอยีนส์ขาวลีวายตัวเก่า เจอ Nike Cortez รุ่น Run Forrest Run เข้า มันจุกอก "เหี้ย เมื่อก่อนกูแต่งตัวเฟรชกว่าตอนนี้เยอะเลยว่ะ" วันรุ่งขึ้นเลยจับเสื้อฮาวายลายปลาคาร์ปญี่ปุ่น (มีรูพรุนที่แขนด้วย แต่ทำไงได้ นั่นตัวโปรด) ปลดกระดุม 2 เม็ดบน ไม่ใส่ยัดใน เข้าคู่กับยีนส์ขาวตัดปลายขารุ่ย ชนไนกี้คอร์เทซ ตัวจบคือแจ็คเก็ตเทเลอร์ลาย Gun Club Check ตัดบ้านๆ โดยช่างไทยแต่ใส่ใจเย็บหางม้า (แน่นอน ไม่อัดกาวแบบสูทนานา) สไตลิ่งลุคนี้ออกไปกินก๋วยเตี๋ยวแซวช่วงเที่ยง ซัดเบียร์ช่วงบ่าย ตบท้ายด้วยมาร์ตินี่ปิดมื้อค่ำวันอาทิตย์

เมื่อรู้สึกสบาย สไตล์จึงเกิด


จากภาพยนตร์เรื่อง Batman (1989) เห็น Jack Nicholson ที่มารับบทเป็นโจ๊กเกอร์ใส่ชุดนี้แล้วรู้สึกได้เลยว่านี่คือตัวตลกที่เห็นแล้วน่าเกรงขาม ดูอันตราย คาดเดาไม่ได้ และขำไม่ออก เชิ้ตผ้าไหมสีส้ม ไทด์เทอร์คอยส์ สูทม่วงสุดไอคอนิก เมื่อชนกับการแสดงระดับพระกาฬทำให้ใครเห็นเป็นต้องเชื่อว่าไอ้หมอนี่ใส่ชุดนี้ ‘อย่างเนียน’ ต่างลิบลับกับคนที่ใส่สูทสีแปลกตาเพียงเพื่อจะเรียกความสนใจ (แบบผิดที่ผิดทาง) แบบนั้น แค่เห็นก็ฮาโดยไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าเป็นตัวตลกเลย




จากภาพยนตร์เรื่อง เก๋า..เก๋า (2006) ดีกรีและฝีมือของสมาชิกวง Possible คือตัวการันตีว่าพวกเขาเอาชุดนี้ ‘อยู่หมัด’ ดูแล้วเก๋า เก๋าสมชื่อ แต่แน่นอนว่าชุดแบบนี้จะเปล่งประกายที่สุดเมื่ออยู่บนเวที (จึงไม่แปลกที่หลังแสดงเสร็จ เราจะได้เห็นตัวละครกลับมาแต่งตัวในชุดธรรมดาที่เข้ากับยุคสมัย) การแต่งกายแบบนี้ชวนให้คิดถึงสไตล์ของ Elvis Presley เขามีปรัชญาในการแต่งกายที่ว่า “In public, I like real conservative clothes, something that not too flashy … but on stage I like them as flashy as you can get them” นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงไม่เห็นเอลวิสใส่สูทผ้าสีทอง (ตัดโดย Nudie’s Rodeo Tailors) หรือคอสตูมแฟนซีจากบนเวทีในชีวิตจริง



เปลี่ยนลุคได้ แต่อย่าเปลี่ยนตัวตน
และที่สำคัญ อย่าลืมบริบท ว่ายังคงเดินเหงื่อตกจิบมาร์ตินี่อยู่ที่สุขุมวิท  
   
  
ผมเคยดูสารคดีเกี่ยวกับเชฟที่ต้องย้ายจากประเทศบ้านเกิด มาเปิดร้านอาหารในต่างแดน เขาเล่าถึงวัตถุดิบสำคัญที่ต้องใส่ในเมนูไม้ตายของเขา นั่นคือชีสโฮมเมด ซึ่งกระบวนการบ่มทำให้รสชาติมันเปลี่ยนทุกชั่วโมง นึกดูว่า กี่ชั่วโมงกว่าจะชิปปิ้งมาถึงนี่ ดังนั้น การจะทำอาหารให้ออกมามีรสเหมือนที่กินในบ้านเกิดนั้น เรียกได้ว่า ลืมไปได้เลย รู้ไหม เขาทำไง แทนที่จะดันทุรังสั่งวัตถุดิบจากบ้านเกิด (ที่รู้อยู่แก่ใจว่าปรุงออกมายังไงก็ไม่เหมือน) เขาหาวัตถุดิบทดแทน บ่มชีสท้องถิ่นเอง เลิกยึดติดกับรสชาติเดิม แต่ตีความรสชาติใหม่ให้คนท้องถิ่นกินอร่อยและเจ้าตำรับกินแล้วอมยิ้ม

เหมือนกันกับสไตล์การแต่งกาย สไตล์ที่รับมาโดยไม่ปรับให้เข้ากับสังคมและนิสัย ก็ไม่ต่างกับการใส่สูทผูกไททำสไตลิ่งเหมือนหลุดออกมาจากงานเลี้ยงของดอน คอร์เลโอเน่ แต่ลืมไปว่าทุกเที่ยงยังเดินตากแดดกินบะหมี่อยู่สีลม
ถามว่าดูดีไหม อาจจะใช่

ถามว่ามีเสน่ห์ไหม…ไม่เลย! 



--------------------

Story by "กรกฎ อุ่นพาณิชย์"