'T-SHIRT' NEVER DIE: THE UNDERWEAR BECAME FASHION ICON

จากไอเท็มชั้นใน สู่ความเป็น ICONIC PIECE ที่ทุกแบรนด์ต้องมี!
21.10.2019
3894
Shares
WHEN IN DOUBT, WEAR T-SHIRT!

ไม่ว่าเทรนด์ไหนจะมา แฟชั่นไอคอนคนไหนจะไป แต่ 'เสื้อยืด' หรือ 'T-Shirt' ก็ไม่เคยตกยุค ด้วยรูปทรงตัว T ที่สวมใส่ง่ายสะดวกสบาย (ก่อนหน้านี้มีชื่อว่าเสื้อสวมคอ หรือ 'Crew Neck') สามารถปรับให้เข้ากับสไตล์การแต่งตัวได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะแบบ Casual หรือ Formal และมีความเก๋แก่นขนาดที่แบรนด์ Haute Couture ยังหยิบมาใช้ในงานออกแบบหลายคอลเลคชั่น ลวดลายหรือตัวอักษรที่ปรากฏบนตัวเสื้อยังสื่อสะท้อนความคิดและบุคลิกของผู้สวมใส่ได้อย่างมีเอกลักษณ์ ซึ่งหากพูดถึงการเดินทางข้ามผ่านกาลเวลาของ 'T-Shirt' แล้วล่ะก็...เชื่อว่าหลายคนจะยิ่งรักไอเท็มชิ้นนี้เพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว!  

ก่อนจะไปถึงจุดนั้น...สิ่งที่เราเซอไพรส์อีกอย่างคือ แนวความคิดการผลิตเสื้อยืด หรือ T-Shirt พัฒนามาจากเสื้อชั้นใน ซึ่งมีมาตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ และค่อยๆ ได้รับความนิยม จนกระทั่งในศตวรรษที่ 19 ต้นกำเนิดของ T-Shirt ก็ได้เกิดขึ้น!



..............................................................

THE BIRTH OF T – SHIRT

ตัวละครนำของเรื่องนี้ ปรากฏตัวครั้งแรกราวต้นปี 1900 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มีทหารอเมริกัน US Navy สังเกตว่าเครื่องแบบของทหารฝรั่งเศสเป็นเสื้อแขนยาวผ้าคอตตอนเบาสบายและแห้งง่ายมาก (Marinières of French Navy) ต่างจากเสื้อตัวในของพวกเขาที่ทำจากผ้าวูล ใส่แล้วเหงื่อออกเยอะแถมแห้งช้าน่ารำคาญใจ จึงจุดประกายให้เครื่องแบบทหารอเมริกันเปลี่ยนมาเป็นผ้าคอตตอน ดีไซน์แขนสั้นและคอกลม พร้อมใช้เป็นยูนิฟอร์มอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ดี ในปี 1920 ผู้คนนิยมสวมใส่เป็นเสื้อชั้นในเท่านั้น ซึ่งต้องรอจนถึงยุค 30s เมื่อวงการกีฬาและภาพยนตร์มีอิทธิพลต่อการสวมใส่ T-Shirt ออกหน้าออกตา





FROM UNDER TO OVER

ต้องให้เครดิตกับวงการกีฬาเป็นอันดับแรก ที่เปิดเส้นทางให้ T-Shirt เป็นที่ประจักษ์ต่อผู้คน ในปี 1932 Howard Jones ฟุตบอลเทรนเนอร์ ขอให้บริษัท Jockey International Inc. ออกแบบเสื้อที่ซับเหงื่อสำหรับทีม USC ซึ่งต่อมากลายเป็น Must – Have Item ในหมู่นักศึกษาถึงขั้นขโมยกัน จนทางมหาวิทยาลัยต้องพริ้นท์บนตัวเสื้อว่า นี่มัน 'Property of USC' จ้ะทุกคนนน! ตลอดจนเป็นที่ต้องการของทีมฟุตบอลต่างๆ ทำให้ T-Shirt โด่งดังอย่างรวดเร็ว... 

นอกจากนี้ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 T-Shirt ขึ้นแท่นเป็นไอเท็มหลักประจำกองทัพสหรัฐฯ โดยมีหน่วยซีลครีเอทเสื้อรูปแบบใหม่ในปี 1938 เรียกว่า 'Gob Shirt' ที่เอามาใส่เป็นเสื้อตัวในหรือตัวนอกได้แบบเท่ๆ ซึ่งเราได้เห็นความเท่ที่ว่าในนิตยสาร Life ฉบับ 13 July 1942 หน้าปกเป็นรูปพี่ทหารใส่เสื้อยืดที่เขียนว่า 'Air Corps Gunnery School' และเมื่อประธานาธิบดี Thomas E. Dewey ใช้เสื้อยืดสกรีนว่า 'Dew It for Dewey' ในการหาเสียงในปี 1948 ก็ถูกบันทึกว่า นี่เป็นเสื้อยืดสกรีนตัวหนังสือตัวแรก ซึ่งต่อมาในปี 1952 มีการทำผลิตเสื้อยืด 'I Like Ike' เพื่อสนับสนุน Dwight D.Eisenhower รวมถึงการใส่ T-Shirt ปรากฏตัวในโทรทัศน์ของเหล่าดาราดังในเวลาต่อมา



HOLLYWOOD CALLING

T – Shirt เฉิดฉายบนจอเงินในปี 50s เมื่อเหล่า Superstar แห่งยุคสวมใส่ในภาพยนตร์ อาทิ Marlon Brando จากผลงานเรื่องดัง 'A Streetcar Named Desire' หรือพระเอกที่หลายคนเครซี่มาถึงยุคนี้ อย่าง James Dean ในหนังเรื่อง 'Rabel Without a Cause' ทำให้เสื้อยืดที่ดูธรรมดากลายร่างเป็นเสื้อผ้าสุดคูลได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญยังถูกจัดให้เป็น Essential Item ในตู้เสื้อผ้าผู้ชายอีกซะด้วย นั่นก็เพราะหนุ่มๆ หวังว่า T-Shirt จะช่วยเพิ่มเสน่ห์ Sex Appeal ให้เข้มข้นเหมือนไอดอลของพวกเขา!


Marlon Brando


Marlon Brando

DESTINATION TO POP CULTURE

นอกจากวงการภาพยนตร์แล้ว ‘T-Shirt’ ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มนักดนตรีอย่างท่วมท้น!

ในช่วงปี 1960 – 1970 ยุคที่ดนตรีร็อคทรงอิทธิพลสุดๆ วงดนตรีต่างๆ นำเสื้อยืดมาสกรีนลายขายเป็น Merch (Merchandise) เวลาออกทัวร์ ใช้เป็นสัญลักษณ์หรือเสื้อทีมแบ่งหน้าที่ระหว่างคนดูกับทีมงาน ความเจ๋งของเรื่องนี้คือ ศิลปินหลายวงขายเสื้อได้พอๆ กับยอดขายอัลบั้มไปอีกกก! เช่น The Beatles, The Rolling Stone, Led Zepling, Bob Marley, Jimmy Hendrix เป็นต้น และที่น่าสนใจยิ่งกว่า เมื่อดีไซเนอร์หลายคนหยิบลายสัญลักษณ์ของวงมาใส่ในงานออกแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นลายปากแลบลิ้นของ The Rolling Stone หรือมงกุฎกับลายธงชาติอังกฤษที่เรามักเห็นคู่กับวง The Sex Pistols และ Vivienne Westwood แน่นอนว่า T-Shirt ไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงร็อคเท่านั้น เสื้อยืดรัดติ้วแบบที่ Ricky Martin ใส่ก็ฮิตกันไม่เบา หรือสกรีนตัวหนังสือ Britnry Spears ที่แปะอยู่บนเสื้อของ Madonna ก็ทำเอาใครต่อใครพลิกแผ่นดินหากันมาใส่กันอยู่พักนึง



NON – STOP JOURNEY SINCE 1990

หลังจากปี 1990 เป็นต้นมา วิวัฒนาการตลอดจนนวัตกรรมของ T-Shirt ไม่เคยหยุดนิ่ง เสื้อผ้าแบรนด์ดังต่างๆ เริ่มหันมาสนใจตลาดเสื้อยืดมากขึ้น ซึ่งแบบที่นิยมมากในยุคนั้นคือ เสื้อยืดสีสกรีนโลโก้ติดกลางหน้าอก โดยมี Calvin Klein เป็น Hi-Brand เจ้าแรกที่บุกเบิกกระแสนี้ ลามไปถึงแบรนด์ยีนส์ระดับตำนานอย่าง Levi’s, Mc, Camel, Lee เป็นต้น แต่ถ้าพูดถึงเสื้อยืดป๊อบๆ ในหมู่นักร้องและศิลปินอเมริกัน คงไม่มีตัวไหนเกินหน้า ‘Anti-Bush-T-Shirt’ ที่ขายอยู่บน www.bant-shirt.com ได้ เพราะจุดประสงค์ในการก่อตั้งคือการรณรงค์และต่อต้านความไม่ชอบธรรมของบรรดาผู้ที่ปิดหูปิดตาประชาชน แถมยังทำตัวประหนึ่งพระเจ้าชี้นิ้วกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าแฟนตัวจริง T- Shirt เข้าไปส่องดูจะเห็นคอลเลคชั่นต่อต้านการเมือง รณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

นี่แหละ...วิวัฒนาการของ T-Shirt ในโลกแห่งความเป็นจริง!!!


..............................................................

DESIGN AND ICONICS

ด้วยความที่รูปแบบการตัดเย็บและรูปทรงเสื้อผ้านั้นดิ้นได้ตลอดเวลา ก็ขึ้นชื่อว่าแฟชั่นแล้ว มีทั้งเดินไปข้างหน้า แล้วก็หวนกลับมาให้น้องๆ เจนเนอเรชั่นนี้ได้สัมผัสและ D.I.Y. กันสนุกสนาน โดยเฉพาะ T-Shirt ใครบ้างไม่เคยหยิบมาใส่ #มั่นใจว่าทุกคนโตมากับเสื้อยืด!

มาทบทวนกันว่าดีไซน์ไหนที่เรา (เคย)ใส่ แล้ว Superstar คนใด ที่ทำให้ T – Shirt ตัวนั้นดังเปรี้ยงปร้าง เริ่มจาก…

50s:
ยังคงความคลาสสิคของคุณสมบัติเสื้อตัวใน แต่เขยิบตำแหน่งมาเป็นเสื้อตัวนอก เช่น เสื้อยืดคอกลมสีขาวเรียบง่ายแฝงความร่วมสมัยที่ James Dean ใส่คู่กับยีนส์และสวมแจ็คเก็ตทับได้ทุกสีทุกสไตล์ ซึ่งเราขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า...นี่คือตัวอย่างของความเท่แห่งยุค (และพี่เจมส์คือหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่งานดีที่สุดของโลกนี้!)



70s: วิวัฒนาการต่อยอดมาจากช่วงปี 60s ที่กระแส 'Pop Culture' กำลังมาแรง ผู้คนสวมใส่เสื้อยืดตามศิลปินโดยเฉพาะชาวร็อคและพังค์ ดีไซน์รูปทรงแคบและค่อนข้างยาว Slim Fit ทำด้วยผ้าคอตตอนหรือเจอร์ซี่ มีการใส่ลูกเล่นสีสันสไตล์ Graphic T-Shirts สกรีนสัญลักษณ์วงดนตรี รูปศิลปิน โควทคำคม คำเสียดสี ซึ่งดีไซน์เสื้อยืดที่แฝงความขบถจนเป็นที่เลื่องลือในยุคนั้นคือ ผลงานออกแบบของ Vivienne Westwood กับ Malcom McLaren - - แล้วคุณป้าเวสต์วู้ตก็นำพา T-Shirt อันดุดัน ผสานสไตล์การแต่งตัวที่เป็นซิกเนเจอร์ของเธอสู่รันเวย์แฟชั่นจนกลายเป็น Iconic แห่งยุค




80s: นอกจากมีการพัฒนาสร้างสรรค์คอเสื้อ V Neck แล้ว ก็เป็นยุคที่ใช้เสื้อยืดสื่อความรู้สึกนึกคิด โฆษณาผ่านภาพลวดลายและตัวหนังสือ รวมถึงดีไซน์รูปทรง Oversized ซึ่ง Katharine Hamnett คือผู้บุกเบิก T – Shirt ทรงนี้ พริ้นต์สโลแกนตัวหนาบนตัวเสื้อในปี 1983 และได้รับความนิยมเมื่อเหล่า Pop Star หยิบมาใส่ในมิวสิควิดีโอ เช่น George Michael กับเสื้อที่เขียนว่า “CHOOSE LIFE” (เพลง Wake Me Up Before You Go-Go) รวมถึง Super Model อย่าง Naomi Campbell กับ T-Shirt "USE A CONDOM", "PEACE" ในขณะที่แฟชั่น Hip Hop เรียก Tall-T Shirt เพราะใส่ยาวจนถึงเข่า และ T-Shirt Dress ที่ไม่จำเป็นต้องใส่คู่กับกางเกง ไอเท็มที่บางครั้งสาวๆ หยิบมาใส่เป็นชุดนอน (ไม่ได้นอน) นั่นเอง!




90s: มากับคีย์เวิร์ดว่า 'Crop Top' ดีไซน์รูปทรงกว้างและสั้น จนถึงเอวลอยโชว์หน้าท้อง มีทั้งแบบฟิตเข้ารูปหรือลำตัวกว้างใส่สบายแบบเซอร์ๆ ซึ่งบางครั้งจะสวมทับเสื้อกล้ามหรือเสื้อยืดตัวยาว เล่นสีตัดเพิ่มความเปรี้ยว นิยมใส่กับกางเกงหรือกระโปรงเอวสูงให้ดูเก๋ๆ ซึ่งเนื้อผ้ามีทั้งชนิดหนาและบางซีทรูไปเลย จะได้เห็นเสื้อตัวใน โชว์ความเซ็กซี่แบบจบๆ อีกหนึ่งสไตล์ที่ป๊อปรองลงมาคือการเล่นเลเยอร์โดยสวมทับเสื้อยืดแขนยาวเข้ารูปตัวใน และเลือกโทนสีเสื้อตัดกัน




00s:
แนวความคิดใหม่และเทรนด์ของ T – Shirt เกิดขึ้นอย่างพรั่งพรูในยุคนี้ ทั้งในด้านนวัตกรรมการผลิต การดีไซน์ ตลอดจนการแต่งตัว เช่น บริษัทผลิตเสื้อยืดออนไลน์ที่พร้อมให้เราสั่งซื้อและสั่งทำตามความพอใจ 'D.I.Y.-T-Shirt' รวมถึงดีไซน์ที่เรียกว่า 'Flip-Up T-Shirt' ที่คนใส่สามารถเล่นสนุกกับการดึงชายเสื้อมาสวมหัวเพื่อโชว์ลายพริ้นท์ด้านใน และเทคนิคการพิมพ์ลวดลายหลากหลายรูปแบบ พูดได้ว่าเป็นยุคที่เรียกแฟชั่นเสื้อยืดพิมพ์สโลแกนและคำเสียดสีต่างๆ กลับมา โดยมีเหล่าเซเลบริตี้ช่วยปลุกกระแส อาทิ Britney Spears, Paris Hilton รวมถึงไลฟ์สไตล์การใส่ T – Shirt ของนางแบบคนดังอย่าง Victoria Beckham หรือ Gisele Bundchen โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ T - Shirt สไตล์ Grunge เป็นไฮไลท์ในงาน Paris Fashion Week 2014 ตลอดจนดีไซเนอร์ทีเชิ้ตร่วมสมัยอย่าง Balmain หรือ Street People Atelier สร้างสรรค์คอลเลคชั่นใหม่ๆ ออกมา

..............................................................

TREND FOR NOW 2019

เรามองว่ามันคือการหยิบเอกลักษณ์ของแต่ละยุคตั้งแต่ 70s',80s, 90s และ 2000s มาชุบชีวิตใหม่ให้ดูเก๋ากว่าเดิม เน้นไอเดีย D.I.Y. ให้ไม่น่าเบื่อ บวกกับความกล้าบ้าบิ่นของดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่พร้อมหยิบแมททีเรียลอันหลากหลายมาปรุงแต่งแปลงโฉมให้กลิ่นอายเรโทรขลังยิ่งกว่าที่เคย

Air of Rock

เสื้อยืดสกรีนสัญลักษณ์วงดนตรีและคำคมเท่ๆ กลับมาเขย่าความร็อคให้กับวงการ T – Shirt และสายแฟฯ อีกครั้งพร้อมเพิ่มความสนุกในการ Mix & Match ทั้งกับเสื้อผ้าและแอคเซสซอร์รี่ส์ชิ้นอื่นๆ เพื่อนิวลุคที่ไม่จำเจ อาทิ ความเปรี้ยวเท่กลิ่นอายพังค์ร็อคสไตล์กรันจ์ หรือสวมใส่สไตล์ T - Dress แฝงกลิ่นอายแฟชั่น Hip Hop และความเซ็กซี่เบาๆ แต่ถ้าสาวๆ อยากได้ชิ้น Iconic ร่วมสมัยและไม่ซ้ำใคร ก็ต้องผลงานสร้างสรรค์ของแบรนด์ D.I.Y. by Panida ที่แปลงโฉมเสื้อ Oversized สกรีนโลโก้วงดนตรีร็อคมีสีสันไม่น่าเบื่อ แถมสวมวิญญาณกรันจ์ครบจบในชิ้นเดียว




Go Minimalist

ความมินิมัลลิสต์ยืนยงกับเสื้อยืดเรียบๆ สกรีนลายตัวหนังสือแนว Black & White ลายพริ้นท์กระเป๋าหลอก หรือดีไซน์โลโก้เล็กๆ ตรงไลน์หน้าอก ยังคงเป็นไอเท็มที่หยิบมาใส่กี่ทีก็ไม่เอาท์ ไม่ว่าจะพริ้นท์ลายบน T – Shirt ตัวยาว หรือตัวสั้นแบบ Crop-Top ให้ดูน่ารักและเซ็กซี่ แมทช์กับกระโปรงชีฟองในลุคหวาน เซอร์ซ่าบอยด์เฟรนด์กับเดนิมตัวใหญ่ หรือเพิ่มความ Formal กับเบลเซอร์เท่ๆ สไตล์ Masculine - - แค่นี้ก็ได้ลุคที่ดีจริงแบบไม่จกตา!






Bright Colours

สีสว่างไม่เพียงแต่ตอบโจทย์งานดีไซน์เสื้อยืดสกรีนที่ต้องการเน้นลวดลายและไอเท็มแล้ว ยังเพิ่มความสดใสและหยิบมาใส่ได้ทุกอีเวนท์ชีวิต รวมถึงความสนุกในการ Mix & Match กับแอคเซสซอร์รี่ได้ฟรีสไตล์ อย่างปีนี้ - สีส้ม แดง ชมพู เค้าก็มา เมื่อบริษัท Pantone เลือกให้เฉดสี 'Living Coral' เป็นสีประจำปี 2019 ตอกย้ำด้วย Message T-Shirt ที่สกรีนตัวหนังสือโทนสีนี้บนพื้นขาว หรือ T – Shirt สี Shocking Pink สกรีนตัวหนังสือสีแดง ส่วนเทรนด์สีที่ป๊อปตามมาคือสีม่วง Mauve สีฟ้า Royal Blue สีเขียวและสีทอง





Retro Typography
ลายเสื้อแบบ Typography เป็นดีไซน์ที่นักออกแบบหยิบมาเล่นทุกยุคทุกสมัย หรือแม้กระทั่งคนใส่เองก็ชอบด้วย เพราะมันคือการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรฟ้อนต์ต่างๆ ใส่ลูกเล่นลายเส้นกราฟิกให้ดูน่าสนใจ และช่วยถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง ที่สำคัญ...ในวันเหงาๆ นึกอะไรไม่ออก ก็หยิบมาใส่ได้ตลอด และถ้าเป็นโลโก้หรือคำโฆษณาอย่าง Coca Cola หรือ Pepsi บนพื้นขาว หรือลายสกรีนบนเสื้อพอดีตัวแขนจัมพ์สีสดก็เหมือนพาเราวาร์ปกลับไปแตะอินเนอร์ของวัยรุ่นยุค 70s ได้ดี!





..............................................................

HOW TO GET THE RIGHT VINTAGE T-SHIRTS?

ในเมื่อกระแสเสื้อวงดนตรียุค 70 - 80s มาแรงขนาดนี้ เชื่อว่าสายแฟฯ เจนเนอเรชั่นใหม่ คงกำลังมองหาเสื้อยืด VTG สกรีนแบบ OG มาครอบครอง ฉะนั้นก่อนจะลงสนามค้นหา T – Shirt ตัวนั้น ลองมาเช็คข้อมูลเกี่ยวกับเสื้อ VTG แท้ๆ กันก่อน เพื่อจะได้ไม่ผิดหวังกับมูลค่าที่ลงทุนกันไป หรือถ้าใครมีอยู่ในตู้ก็ลองหยิบมาเช็คดูให้มั่นใจ เริ่มต้นที่...

#1 ขนาด เสื้อยืดวินเทจโดยเฉพาะยุค 70s แม้ป้ายจะบอกว่าไซส์ M เหมือนกัน แต่มักจะมีขนาดเล็กกว่าเสื้อไซส์ M ในปัจจุบันประมาณหนึ่งไซส์ ควรลองวัดขนาดหรือใส่ดูก่อน

#2 ลาย ควรตรวจสอบว่าลายเสื้อเป็นของต้นฉบับหรือไม่ สังเกตความถูกต้องของดีไซน์หรือสีว่าเพี้ยนแค่ไหน ทั้งนี้เทคนิคการพิมพ์ลายในยุคนั้นจะเป็นการสกรีน (Screen Printing) และการถ่ายโอนความร้อน (Iron-on Transfer/Heat Transfer) เป็นหลัก ซึ่งหากเสื้อตัวไหนที่ใช้เทคนิคพิมพ์ดิจิตัล (Digital Printing) อย่างในปัจจุบัน สีที่พิมพ์ลงไปจะฝังในเนื้อผ้า ลูบแล้วไม่รู้สึกว่านูนขึ้นและฝืดเหมือนรอยสกรีน และสีจะสดกว่าสีจากการสกรีนมาก

#3 ป้าย เสื้อยืดที่นิยมใช้ผลิตกันในยุคนั้น มาจากหลากหลายแบรนด์ เช่น Hanes, Niceman, Stedman, Giant, Brockum เป็นต้น ซึ่งค่ายเพลงมักจะไปซื้อเสื้อเปล่าของแบรนด์เหล่านี้มาสกรีน ให้สังเกตที่ป้ายคอเสื้อว่ามีชื่อของแบรนด์ดังกล่าวหรือไม่? มีคำว่า MADE IN USA มั้ย? มีร่องรอยการเลาะหรือเย็บป้ายใหม่เพื่อหลอกขายหรือเปล่า? แต่เสื้อวินเทจแท้ๆ บางตัวที่ไร้ป้ายคอเสื้อแต่แรกก็มีเช่นกันนั่นแหละ ไม่แปลกที่บางทีเราจะเป็นงงๆ บ้าง

#4 เนื้อผ้า ส่วนใหญ่เป็นผ้าผสม Poly - Cotton หรือเป็นผ้าสามเนื้อที่มี Rayon ปนอยู่ด้วย จึงมีความนุ่มและบางกว่าผ้า Cotton 100% สามารถสังเกตส่วนผสมได้ที่ข้อความตรงป้ายคอเสื้อ ซึ่งมักจะบอกตัวเลขเรียงเป็น Polyester/Cotton หรือ Polyester/Cotton/Rayon ตามลำดับ

#5 การตัดเย็บ เสื้อยุคนั้นส่วนใหญ่จะเย็บแบบตะเข็บเดี่ยว ชายสอย เนื่องจากยังตัดเย็บด้วยจักรและมืออยู่ หรือเป็นข้อจำกัดของเครื่องจักรแบบเก่า จึงแตกต่างจากการตัดเย็บด้วยเทคโนโลยีใหม่ในยุค 90s เป็นต้นมา ที่สามารถเดินตะเข็บคู่หรือแบบอื่นที่ซับซ้อนได้ง่ายและรวดเร็วกว่ามาก นอกจากนี้เสื้อวินเทจส่วนใหญ่จะไม่มีตะเข็บด้านข้างเพราะใช้วิธีทอเสื้อขึ้นมาเป็นตัวตามไซส์แล้วเย็บแขนติดเข้าไปทีหลัง

#6 กลิ่น เสื้อวินเทจก็เหมือนกับเสื้อผ้ามือสองทั่วไปตรงที่มีกลิ่นของความเก่าอยู่ กลิ่นที่ใช่ก็จะใกล้เคียงกับหนังสือเก่านั่นเอง ของมีประวัติก็แบบนี้


แต่เอาจริงๆ นะ การตรวจสอบว่าเสื้อแต่ละตัวเป็นของวินเทจแท้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องยากมาก แม้แต่มือโปร สายรีวิว หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ที่ว่าแน่ๆ ก็ยังไม่สามารถจับผิดได้ 100% ทางที่ดีควรซื้อจากคนขายหรือร้านที่เชื่อถือได้และตรวจสอบอย่างละเอียดทุกครั้ง...

ด้วยความรักและปรารถนาดีต่อบัญชีของทุกคน!


#CheezeLooker #Scoop #CHZ #Online02 #TGIRL #TSHIRTNEVERDIE