STORY: กรกฎ อุ่นพาณิชย์
Marie Kondo ปรมาจารย์การระเบียบชีวิตชาวญี่ปุ่นเคยบอกเคล็ดลับการทิ้งของที่ไม่จำเป็น ลองถือของชิ้นนั้น ถ้า spark joy แสดงว่าชิ้นนั้นคือหวานใจ และยังเร็วไปที่จะทิ้ง
ผมเห็นด้วย แต่อยากให้เพิ่มอีกเงื่อนไขสำหรับคนที่ทิ้งไม่ลงเลยสักชิ้น ลองจัดกระเป๋านาทีสุดท้าย แล้วคุณจะรู้เลยว่าชิ้นไหนไม่สำคัญ
ผมทำมาแล้วครับ สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปโอซาก้า โกเบ และเกียวโตรวม10 วัน ยังไม่ทันเช็คอุณหภูมิ (ร้อนสุด14 องศา หนาวสุด 0 องศา แน่นอน ต้นวินเทอร์) สัญชาติญาณกลับบอกให้ผมหยิบเชิ้ตเวสเทิร์นวินเทจ Lee เชิ้ตขาว tab collar จาก Brooks Brothers วินเทจสเวตเตอร์แคชเมียร์สีเขียวมอส เชิ้ตลายทางจาก 45 Rpm สแล็ควูลทอลายก้างปลาสีเทาเข้ม กางเกงทหาร OG 107 เขียวมะกอกเฟดหนักๆ ลีวายปี 82 ตัวมอมๆ ตะเข็บสุดราง เน็กไทเก่าๆ 2 เส้นเผื่อไว้ (ฝรั่งเศสเส้น อิตาลีเส้น ซื้อเหมามา 300 บาท) ฮอร์สบิทคู่ คอนเวิร์สคู่ และแจ็กเก็ตวูลตัวเก่งลาย Gun club check จากเทเลอร์คู่บุญ ที่เนื้อผ้าบางจนต่อให้เป็นแคชเมียร์ก็กันหนาวไม่ได้ แต่ทำไงได้ ผมติดมัน
แจ็กเก็ตตัวนี้แก้ 3 ครั้ง เกือบทะเลาะกับช่างกว่าจะเสร็จ เป๋าขาด ก็ปะ วงแขนใหญ่ก็เอาไปทำให้เล็ก เอวตรงเหมือนท่อนไม้ก็เอาไปแก้ให้เซ็กซี่พอมีเอว พูดง่ายๆ คือ มันเก่า มันมอม แต่ผมชอบฉิบหาย
ประเด็นคือ ผมหยิบของพวกนี้โดยสัญชาติญาณ พวกมันมีจุดร่วมเดียวกันคือ ทั้งเก่า ซ่อมแล้วซ่อมอีก แต่คุณภาพดีมาก ยิ่งซัก ยิ่งงาม ยิ่งใช้ ยิ่งสวย และมันผ่านร้อนผ่านหนาวกับผมมาไม่รู้เท่าไหร่
นั่นคือเสน่ห์ของสไตล์ครับ ผมรู้สึกอินสไปร์ทุกครั้งที่เห็นคนใส่ยีนส์เก่าๆ ยิ่งเขาทำเก่าด้วยตัวเอง ผมยิ่งอิน สีเฟดจนครามแทบจาง รอยปะทั่วตัว ราวกับมันประทับชีวิตของเขาไว้ในรอยเฟด ไม่ต่างกับคนที่ใช้รองเท้าหนังดีๆ หนังย่น ดูก็รู้ว่าเก่า แต่ขัดเงา ชโลมน้ำยาจนหนังชุ่มชื้น resole มาไม่รู้กี่ครั้งแต่ยังสวยจับใจ และเชื่อเถอะครับ ฮอร์สบิทโลเฟอร์รุ่นยุคเจ็ดศูนย์ที่ซื้อมาหมื่นกว่าในสภาพเดดสต็อก แม้หนังจะเก่าหลายสิบปี แห้งจนขาด และต้องรื้อพื้นเย็บใหม่ แต่สภาพมันยังดูดีกว่ารองเท้าราคา 3,000 ในสภาพใหม่ออกห้าง
Ralph Lauren คือนิยามของความเก่า...เก๋มเกมอย่างแท้จริง ถ้าไม่เชื่อ ลองดูร่องรอยความเก่าบนเดนิมเชิ้ตตัวนี้ ทั้งขาด ทั้งมอม แต่เมื่ออยู่บนตัวเขามันเก๋าขึ้นหิ้ง นั่นเป็นเพราะลุงราล์ฟไม่เคยยอมให้เสื้อผ้ามานำบุคลิก และพูดให้ถูก ลุงราล์ฟไม่เคยเก่า หลายครั้งออกจะ ‘มาก่อนกาล’ ด้วยซ้ำไป ลองคิดดูครับว่าคนที่สวมแจ็กเก็ตทักซิโด้กับยีนส์ขาดๆ ไปร่วมงาน black tie แล้วยังคงบารมีน่าเลื่อมใส จะมีสักกี่คนในโลก นี่คือตำนานที่คนซาร์ตอเรียลจ๋าไปถึงสตรีทแวร์จัดๆ ต้องคารวะ
อีกครั้ง ตะเข็บรางรถไฟบนยีนส์ตัวเก่านั่น แท็คทีมกับบูทคาวบอย กระชากอารมณ์กับเชิ้ตขาว ไทด์เส้นเล็กสุดสำอาง กับทวีดแจ็กเก็ตตัวนั้น ไม่ว่าลุคไหน เขาไม่ลืมจิตวิญญาณบนอานม้า
จะซื้อทั้งทีลงทุนที่คุณภาพครับ ซื้อของที่ดีที่สุดที่คุณจะจ่ายได้ แล้วใช้ยาวๆ รักษาให้ดี พังก็ซ่อมใหม่แล้วใช้อีก นั่นคือความยั่งยืนที่แท้จริงกว่าการเข้าร้านฟาสท์แฟชั่น ซื้อเสื้อผ้ามาเป็นโหล แต่ต้องเปลี่ยนทุกปี หรือเข้าร้านตัดสูทแบบอัดกาว ราคาถูก เสร็จไว ใช้ไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง ไม่ได้จะดิสเครดิตครับ แต่สูทคือศาสตร์ซับซ้อน ก่อนซื้อคุณต้องเข้าใจก่อนว่าสูทดั้งเดิมแบบที่เย็บหางม้า (หรือ canvas ถือเป็นโครงกระดูกของสูทที่ทำให้สูทเด้ง มีโครงสร้างเป็นสามมิติ) นั้นใช้เวลาเย็บเป็น (หลาย) วัน ดังนั้น สูทราคาถูกจึงมักใช้วิธี ‘อัดกาว’ แทนการเย็บหางม้า มันถูกกว่า ทำได้เร็วกว่า แต่พอกาวลอกก็จบกัน และกาวทำให้สูทพวกนี้ร้อน แข็ง ไม่ทีทาง ‘เข้าตัว’ กับผู้ใส่ ลืมคำว่ายิ่งใส่ ยิ่งสวย ไปได้เลย
จำไว้ครับ คุณภาพมาพร้อมราคา (ที่มักจะสูง) คุณจ่ายอะไรก็ได้อย่างนั้น จะดีกว่าไหมถ้าคุณเลือกลงทุนกับสูทที่ดีสักตัว แล้วค่อยๆ พัฒนามันด้วยการหยิบมาใส่บ่อยๆ แบบนี้คุ้มค่ากว่าซื้อสูทอัดกาวที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือต้องตัดใหม่ทุกครั้งที่ไปงานแต่ง ที่สำคัญ ซื้อของคุณภาพมาแล้ว ต้องกล้าใช้มัน นั่นคือทางเดียวที่จะทำให้ของชิ้นนั้นเป็นของคุณอย่างแท้จริง รองเท้าผ้าใบสีขาวจะสวยที่สุดเมื่อมันเลอะฝุ่น (และต้องทำใจว่าวันหนึ่งมันจะเหลือง) สูทเย็บหางม้าทั้งตัวจะเข้าเนื้อเมื่อคุณใส่ซ้ำจนผ้าและหางม้าเข้าตัว พริ้วไปกับการเคลื่อนไหว เหมือนเป็นผิวหนังชั้นที่สอง
Duke of Windsor หรือพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 แห่งสหราชอาณาจักรคืออีกหนึ่งผู้แหกกฎในสายซาร์ตอเรี่ยล สวนกระแสการใส่เชิ้ตปกแข็งลงแป้งตามสมัยนิยม สู่การแต่งกายสไตล์ dress soft สวมเชิ้ตปกอ่อน ติดซิปในสแล็ก และอีกหลายนวัตกรรมหักปากกาเซียน นี่คือตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า ลงทุนกับสูทดีๆ สักตัว มันจะอยู่กับคุณไปชั่วชีวิต
ยุคนี้ หากต้องลงทุนกับแจ็กเก็ตแค่ตัวเดียว ลองดูนี่ ดยุกแห่งวินด์เซอร์ กับเบลเซอร์กระดุมทองสไตล์ทหารเรืออังกฤษ ชิ้นอมตะที่ไม่เคยหักหลังบุรุษ
เชิ้ตอ็อกฟอร์ด button-down ที่ใส่จนขอบปกเสื้อเปื่อย มีด้ายรุ่ยออกมานั้นถูกใจสาวกไอวี่ลีค (ไม่งั้นเด็กมหาลัยอเมริกันยุคหกศูนย์คงไม่เอากระดาษทรายมาถูขอบปกให้เปื่อยเลียนแบบของเก่าหรอกครับ) อย่ากลัวที่จะใช้มัน ใส่ แล้วลืมมันไปซะว่าใส่มันอยู่ (แต่ต้องมีสตินะครับ ไม่ใช่เห็นว่าเลอะแน่ๆ ก็ยังพุ่งไป) เหมือนความรักนั่นแหละครับ ช่วง Honeymoon period คุณจะถนอมสูทตัวนั้นเหมือนยอดยาหยี แค่ท้าวศอกบนโต๊ะก็ยังไม่กล้า แต่พอยอดยาหยีมีบาดแผลแรก ด้ายรัน กระเป๋าขาด รักแร้ขึ้นคราบเกลือ คุณเอาไปซ่อม เอาไปซัก แล้วเธอกลับมาไม่เหมือนใหม่ ช่วงหลังฮันนีมูนพีเรียดนี่แหละครับที่คุณกับยอดยาหยีจะเริ่ม ‘ชีวิตจริง’ ไปด้วยกัน เพราะเธอขาด คุณซ่อม เธอมอม คุณซัก เธอมีบาดแผลใหม่ คุณยอมรับตำหนินั้น นั่นบ่งบอกว่าเราเป็นของกันและกัน และชีวิตคู่ที่แท้จริงกำลังจะเริ่ม ณ บัดนี้
ตัวผู้เขียนตอนไปโกเบ แจ็กเก็ตวูลลาย Gun club check ตัวเก่า เชิ้ตสไตร์ป 45rpm เน็กไทลาย paisley เก่าๆ สเว็ตเตอร์แคชเมียร์คอกลม (ครับ ผูกเน็กไทกับสเว็ตเตอร์คอกลม เห็นไม่ผิด) กับคาร์ดิแกนวินเทจที่ไปสอยมาที่โกเบ ผู้เขียนถูกใจในลายที่เหมือนคุณย่าถักให้ (แล้วไม่กล้าใส่เพราะกลัวเพื่อนล้อ) เลยซื้อมา คอมบิเนชั่นอย่างมั่วซั่ว อย่ากลัวสี สะใจครับที่เอาของเก่ามาใช้ให้เข้ากับบริบทได้ และมันไม่ทิ้งตัวตนคนใส่
"ดีไซน์หล่อ" จนไม่กล้าขับ!
จับจองพื้นที่สำหรับการเฉลิมฉลองส่งท้ายปีแบบพิเศษกับ “Singha Reserve Special Edition”
อากาศจะร้อน ฝนจะตก ก็พร้อมออกตะลุย
Good Times + Crazy Friends = Amazing Memories