รวมข่าวสำคัญแห่งปีที่เขย่าวงการแฟชั่นจนสั่นสะเทือน

การสูญเสีย...การประท้วง...การยกเลิก...และการเริ่มต้นใหม่?!
27.12.2019
4339
Shares
 #1 GOODBYE KARL

 

ถือเป็นข่าวเศร้าครั้งใหญ่และเป็นคำถามว่าแล้วต่อไปนี้จะอะไรยังไงกับวงการแฟชั่นบ้าง? กับการจากไปของ KARL LAGERFELD ดีไซเนอร์ระดับตำนานของโลก ผู้กุมบังเหียนห้องเสื้อ CHANEL มายาวนานกว่า 36 ปี ข่าวการจากไปของ KARL นี้ไม่เพียงกระทบแค่แบรนด์ CHANEL เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแบรนด์อย่าง FENDI และอุตสาหกรรมแฟชั่นรวมถึงการออกแบบของโลกอีกมากมาย 

ย้อนดู TIMELINE ชีวิตของ KARL LAGERFELD กันสักนิดเพื่อเป็นการรำลึกถึง ‘ราชาแห่งวงการแฟชั่น’

1944 คาร์ลไม่ได้เป็นคนฝรั่งเศสแต่กำเนิด แต่เขามาจากครอบครัวที่มีฐานะในเยอรมนี ชีวิตของเขาเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเมืองฮัมบูร์กถูกโจมตีด้วยระเบิด ทำให้ครอบครัวต้องย้ายมาไปอยู่ในชนบท ที่นี่เองที่ทำให้เรารู้ว่า คาร์ลไม่เคยทิ้งคำว่า 'สไตล์' เพราะเขามักจะแต่งตัวแปลกและโดดเด่นกว่าเด็กทั่วไป เขาเรียนจบด้านการวาดภาพและประวัติศาสตร์ ชอบไปคลุกตัวในพิพิธภัณฑ์มากกว่าการไปโรงเรียน หลงใหลและชอบทุกอย่างที่เป็นฝรั่งเศส 

 
KARL WINNING FIRST PRIZE AT THE FASHION DESIGN COMPETITION IN PARIS, 1954

1953 คาร์ลตัดสินใจย้ายไปอยู่ปารีสและเริ่มสร้างผลงานของตนเอง และในอีก 2 ปีถัดมามาเขาได้รับรางวัลชนะในการประกวดออกแบบในหมวดเสื้อโค้ท ซึ่งเป็นการประกวดเวทีเดียวกันกับ YVES SAINT LAURENT ซึ่งก็ได้รับรางวัลชนะเลิศในหมวดของชุดเดรส ก่อนที่ผลงานจะเข้าตาจนถูกทาบทามจาก PIERRE BALMAIN และ JEAN PATOU ให้มาร่วมงาน

1964 อาจเรียกได้ว่าเขาคือดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์คนแรกๆ ของวงการก็ว่าได้ ในช่วงนี้คาร์ลได้สร้างสรรค์ผลงานการออกแบบให้อีกหลายแบรนด์ตั้งแต่ MARIO VALENTINO, CHLOE และ CHARLES JOURDAN

 
FENDI COATS BY KARL LAGERFELD, VOGUE PARIS

1967 เซ็นต์สัญญาร่วมงานกับแบรนด์ FENDI ก่อนปลุกให้ชุดขนเฟอร์ของแบรนด์ประสบความสำเร็จอย่างสูง เขาเคยบอกว่า สัญญาที่ทำกับ CHANEL และ FENDI นั้น คือการยอมให้เขาทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ นี่อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้งานออกแบบของเขามีพลังและชัดเจน

 



KARL LAGERFELD, CHANEL ATELIERS, 1983

CHANEL, 1989

1983 จุดพลิกผันทางอาชีพและของแบรนด์เลยก็ว่าได้ กับการเข้ามาทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้ CHANEL แบรนด์ (ที่ในขณะนั้น) เข้าเข้าใกล้คำว่า “NEAR-DEAD BRAND” ก่อนปลุกให้ชื่อของ CHANEL และโลโก้ C ไขว้กลายเป็น MUST HAVE อีกครั้ง การกลับมาของชาแนลครั้งนี้ มีพร้อมทั้งความสมัยใหม่ ความร่ำรวย ความสดใส และความคลาสสิค ด้วยดีไซน์ สีสันและเทคนิคการตัดเย็บ รวมถึงการเลือกเนื้อผ้าโดยที่ไม่ลืมความเป็น Original CHANEL จนถึงปัจจุบัน (นี่ยังไม่รวมถึงเหล่ากระเป๋าต่างๆ ที่แทบจะเรียกได้ว่าผู้หญิงทั่วโลกเกือบร้อยทั้งร้อยต้องอยากมีครอบครอง)

 

นอกจากเป็นนักออกแบบแล้ว คาร์ลยังเป็นศิลปินนักวาดภาพประกอบ นักอ่าน นักสะสมรวมถึงช่างภาพฝีมือดี เขามักจะถ่ายรูป ทำแคมเปญโฆษณารวมถึงหนังสั้นด้วยตัวเองอีกด้วยถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ไม่เพียงสร้างสรรค์ผลงานให้กับงานของตัวเอง แต่ยังส่งต่อแรงบันดาลใจให้อีกหลายๆ คนบนโลกเลยก็ว่าได้

 

 #2 GIGI SAVES CHANEL



คุณจะทำยังไงเมื่อมีแขกไม่ได้รับเชิญมางาน? แถมยังมาขโมยซีนเรียกร้องความสนใจในงานคุณอีก! เรื่องนี้เกิดขึ้นในโชว์ของ CHANEL คอลเลคชั่น S/S 2020 ในช่วงฟินาเล่ปิดโชว์ เมื่ออยู่ๆ ก็มีผู้หญิงคนนึงในชุดผ้าทวีตที่ดูคล้ายกับชุดของ CHANEL วิ่งขึ้นไปตีเนียนเดินร่วมกับนางแบบจนกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลก 

 

หญิงคนนั้นคือ MARIE BENOLIEL นักแสดงตลกและ YOUTUBER ชาวฝรั่งเศสที่ใช้ชื่อ INSTAGRAM ว่า MARIE S’LNFILTRE  ซึ่งภายหลังเธอออกมาเปิดเผยว่าฝันอยากจะแทรกตัวเข้าไปอยู่ในแฟชั่นโชว์สักโชว์หนึ่งมาหลายครั้งแล้ว และเธอคิดว่า CHANEL นี่แหละ น่าจะเป็นโชว์ที่ท้าทายที่สุด ครั้งนี้อีกหนึ่งคนสำคัญที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์และต้องยกความดีความชอบให้นั่นคือ GIGI HADID ที่ช่วยไปขวางและหยุดคุยกับ MARIE ก่อนโอบไหล่ YOUTUBER สาวอย่างนุ่มนวลไป(เคลียร์)หลังเวที กลายเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่เรื่องความปลอดภัยในอนาคตรวมถึงกระแสสังคม (ชาวเน็ต) ที่พูดถึงพฤติกรรมครั้งนี้ของ MARIE ว่าไม่เหมาะสมและกลัวจะมีคนเอาอย่างในอนาคต นึกไม่ออกว่าถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยที่ KARL LAGERFELD ยังอยู่ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง?

 
#3 DEMNA HAS LEFT VETEMENTS

ช็อคกันทั้งวงการ!!! เมื่อดีไซเนอร์มือทอง (แห่งปี) DEMNA GVASALIA (เด็มน่า กวาซาเลีย) จาก VETEMENTS ประกาศลาออกจากแบรนด์ของตัวเอง?! อันนี้งงจริง กับสาเหตุที่ว่า...รู้สึกพอใจกับความสำเร็จของแบรนด์ที่ก่อตั้งมากว่า 5 ปีแล้ว ตอนนี้เขารู้สึกว่าอยากหาอะไรที่ท้าทายกว่านี้ทำ!  

 

VETEMENTS แบรนด์ที่แปลตรงตัวจากภาษาฝรั่งเศสว่า 'เสื้อผ้า' โดยเริ่มต้นจากโปรเจกต์พิเศษในช่วงที่เด็มน่ายังเป็น SENIOR DESIGNER (WOMENSWEAR ให้กับ LOUIS VUITTON) เพียงไม่นาน VETEMENTS ก็ประสบความสำเร็จเกินคำว่าติดตลาด แต่กลายเป็นแบรนด์ที่คนทุกสายตั้งแต่สายลักซ์ชัวรี่ ไปจนถึงสายสตรีทต้องการ นับเป็นปรากฏการณ์เขย่าวงการแฟชั่นโลก ตั้งแต่โครงชุดที่ผิดรูปแปลกตา วัสดุที่ดูธรรมดาเอามากๆ (หลายคนมองว่าดูเหมือนเสื้อผ้าเก่าด้วยซ้ำ) รวมถึงการเลือกใช้นายแบบนางแบบที่ดูเป็นคนธรรมดาไม่เพอร์เฟค ยังไม่รวมงาน COLLAB. กับแบรนด์ต่างๆ อย่าง LEVI’S, REEBOK, CHAMPION ไปจนถึง JUICY COUTURE






ซึ่งแต่ละไอเท็มกลายเป็น MUST HAVE และ RARE ITEM ไปแล้ว จากความสำเร็จดังกล่าวทำให้เด็มน่าก้าวเข้ามาเป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์ของ BALENCIAGA นี่อาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็มน่าประกาศลาออกจากแบรนด์ VETEMENTS และหันไปโฟกัสกับทิศทางของ BALENCIAGA มากขึ้น หรือเขาจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์วงการแฟชั่นอีก? คงต้องรอติดตามกันต่อไป...

#4 MENTAL HEALTH IS NOT FASHION


ปีนี้เป็นอีกปีที่เราได้ยินข่าวคราวเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นเยอะและกำลังเยอะขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงโชว์ของ GUCCI S/S 2020 กลายเป็นอีกหนึ่งข่าวดราม่าที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับวงการแฟชั่นในปีนี้ได้ไม่น้อย ภายใต้การควบคุมดูแลของ ALESSANDRO MICHELE CREATIVE DIRECTOR ของแบรนด์ ที่เปิดโชว์ด้วยการจับนางแบบและนายแบบเคลื่อนย้ายไปตามสายพานโชว์ตัวในชุด STRAITJACKETS (ชุดผู้ป่วยจิตเวช) ก่อนที่จะเริ่มโชว์ แถม RUNWAY TRACKS ภายในโชว์ยังมีซาวนด์ประกอบว่า "NOT A NORMAL PERSON!"

 

และแล้ว AYESHA TAN JONES หนึ่งในนางแบบของโชว์นี้ ก็โผล่ออกมาบนสายพานพร้อมข้อความในมือที่ว่า "MENTAL HEALTH IS NOT FASHION" เรื่องของสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องแฟชั่น หลังจบงาน AYESHA ได้โพสต์วิดีโอขณะเธอเดินแบบ ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยเอามากๆ ก่อนอธิบายว่า “ในขณะที่หลายคนกำลังประสบกับปัญหาสุขภาพจิต ตลอดจนสมาชิกในครอบครัวและคนที่รักได้รับผลกระทบจากภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล อาการไบโพลาร์ และโรคจิตเภท มันเป็นเรื่องเซ้นซิทีฟมากๆ ที่แบรนด์ใหญ่อย่าง GUCCI จะหยิบเอาคอนเซ็ปต์มาใช้ ในขณะที่ถูกเคลื่อนที่ออกมาบนสายพานลำเลียงราวกับชิ้นเนื้อจากโรงงาน”

 

ในขณะที่ทางด้านโฆษกของ GUCCI กล่าวว่า ไม่มีใครรู้เกี่ยวกับเรื่องการประท้วงนี้มาก่อน และยังอธิบายว่าชุดเครื่องแบบดังกล่าวนี้ไม่มีวางขายด้วย ส่วน ALESSANDRO MICHELE ก็ได้ออกมาแย้งว่า...เครื่องแบบดังกล่าวนั้น หมายถึงสิ่งที่กำลังจำกัดความคิดและความเป็นอิสระของแต่ละคนเท่านั้น ไม่ได้ตั้งแง่ไขหรือมีความหมายอื่นแฝง จนถึงตอนนี้ยังมีบางกระแสที่คิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการจัดฉากหรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง?!

#5 R.I.P. THE LEGENDARY 

ถือเป็นปีแห่งการสูญเสียของวงการแฟชั่นเลยก็ว่าได้ เมื่อ PETER LINDBERGH (ปีเตอร์ ลินด์เบิร์ก) ช่างภาพแฟชั่นมือดีระดับตำนาน เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยวัย 74 ปี ปีเตอร์เริ่มเรียนและฝึกฝนการถ่ายภาพที่เบอร์ลิน ก่อนจะเข้ามาเริ่มต้นงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมแฟชั่นอย่างจริงจังที่งาน NEW YORK FASHION WEEK ก่อนย้ายมาทำงานที่ปารีสในปี 1978 

 


ความจริงแล้วปีเตอร์มีผลงานที่สร้างชื่อมากมาย แต่ผลงานที่เป็นอมตะและคนพูดถึงอยู่เสมอนั่นคือเซ็ตที่ได้เหล่า SUPER MODELS ในตำนานอย่าง NAOMI CAMPBELL, LINDA EVANGELISTA, TATJANA PATITZ, CHRISTY TURLINGTON, CINDY CRAWFORD ที่มีแบคกราวด์เป็นมหานครนิวยอร์ก (COVER VOGUE GRANDE-BRETAGNE, 1990) ซิกเนเจอร์ที่โดดเด่นและชัดเจนของปีเตอร์คือภาพขาวดำที่เน้นความสง่างามแต่ยังคงความเป็นธรรมชาติอยู่ ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวว่า “นี่ควรเป็นความรับผิดชอบของบรรดาช่างภาพทุกคนที่จะปลดปล่อยผู้หญิงและทุกคนๆ ให้พ้นจากความหลอกหลอนของความอ่อนเยาว์และความสมบูรณ์แบบ”

    

 #6 NO MORE SECRET 

ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเพราะพิษเศรฐกิจหรือโลกทุกวันนี้เปลี่ยนไป ทำให้หลายแบรนด์เลิกทำโชว์แยกเพศแบบชายหญิง แล้วรวมเป็นหนึ่งโชว์ใหญ่ไปเลย แต่นั่นยังไม่ช็อคเท่ากับการยกเลิกโชว์แบบถาวรของแบรนด์ชุดชั้นในระดับโลกอย่าง VICTORIA'S SECRET ที่หยุดความฝันของสาวๆ (และหนุ่มๆ) ไว้แค่นี้ ถือเป็นการปิดตำนานนางฟ้าไปแบบถาวร...


 



โชว์ของวิคตอเรียซีเคร็ทเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปี 2538 หลังจากนั้นเรทติ้งของโชว์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอีกหนึ่งโชว์ยิ่งใหญ่ประจำปีที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง (สักเท่าไหร่) กับบรรดาแฟชั่นโชว์ตามฤดูกาลอย่างมิลานหรือปารีส...กว่า 24 ปีที่ผ่านมา โชว์ของวิคตอเรียซีเคร็ทนั้นได้สร้างปรากฏการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาศิลปินชื่อดังต่างๆ มาแจมในโชว์ โมเม้นต์ดาราคู่รักกับเหล่านางฟ้าวิคตอเรีย สร้างกระแสต่างๆ ทางโซเชี่ยลได้มากมาย





แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความคิดและมุมมองของผู้คนเปิดกว้างและเป็นอิสระมากขึ้น ทำให้โชว์ล่าสุดนั้นมีข้อถกเถียงหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องของการเหยียดเพศที่เป็นที่โจษจัน หลังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของแบรนด์ออกมาพูดว่า นางแบบข้ามเพศไม่ควรเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโชว์วิคตอเรียซีเคร็ท นั่นเองที่อาจกลายเป็นความล้าหลัง ลามไปถึงความน่าเบื่อ จนทำให้ยอดขายและเรทติ้งของโชว์ตกฮวบ
 

#7 ASIAN POWER


ปีนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องของการสูญเสียหรือความเสียหายทางต่ออุตสาหกรรมแฟชั่นเท่านั้น เพราะยังมีเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามองเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือชาวเอเชีย ที่ได้รับการยอมรับจากโลกแฟชั่นแบบเปิดกว้างมากขึ้น ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะนายแบบ, นางแบบ หรือดีไซเนอร์ชาวเอเชียเท่านั้น แต่ปีนี้เป็นปีที่ ICON ของเอเชียบ้านเรากลายเป็น MUSE ให้กับแบรนด์ดังหลายแบรนด์ สำหรับคำว่า "MUSE" การจะได้มา ถือเป็นเรื่องที่ยากมาก รวมถึงการได้ไปนั่ง FRONT ROW ชิดขอบเวทีร่วมกับคนดังอื่นๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย... 

โดยเฉพาะกระแสและความสามารถที่แรงเกินต้านของ 4 สาว BLACKPINK ที่ไม่ได้มีอิทธิพลเพียงแค่เรื่องของเพลงเท่านั้น แต่เรื่องของแฟชั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากเช่นกัน ไล่มาตั้งแต่ JISOO ที่โชว์ของ BURBERRY ต่อด้วยสาวเท่ ROSÉ ที่โชว์ SAINT LAURENT ความน่ารักสดใสของ JENNIE ที่โชว์ของ CHANEL ในปารีสแฟชั่นวีค และปิดท้ายด้วย LISA "MUSE" คนสำคัญของ CELINE ที่ถึงแม้จะเป็นโชว์ของไลน์ผู้ชาย แต่ลิซ่าก็ยังได้ไปนั่ง FRONT ROW ชมแฟชั่นโชว์...EXCLUSIVE แค่ไหน ถามใจ HEDI SLIMANE ที่ออกตัวปลื้มลิซ่าถึงขั้นตามไปถ่ายปก MADAME FIGARO และ VOGUE ญี่ปุ่นเลยทีเดียว!

 

JISOO, BURBERRY SHOW, LONDON 



ROSÉ AND ANTHONY VACCARELLO CREATIVE DIRECTOR SAINT LAURENT, PARIS




JENNIE, CHANEL, PARIS



MUSICIAN MILES KANE AND LISA, CELINE, PARIS 




HEDI SLIMANE, LISA BACKSTAGE CELINE,PARIS


 
 
 #CheezeLooker #Bestof2019 #TheBiggestFashionNews