"อาร์ท - ศุภชัย เพ็ชรี่" กับอาชีพในวงการแฟชั่นและศิลปะที่ "เปลี่ยน" ให้เขากลายเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว!

#SCG #CHANGE #เปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์ #ClimateEmergency #ภาวะโลกร้อน
14.07.2021
4953
Shares
โลกนี้มีนักสะสมมากมาย บ้างก็เป็นของชิ้นเล็ก บ้างก็ชิ้นใหญ่ แต่ใจความสำคัญของนักสะสม คือสิ่งเหล่านั้นล้วนมีคุณค่าต่อจิตใจ บางคนมีความสุขเพียงแค่ได้จ้องมองข้าวของที่ใช้อุตสาหะออกตามหา ในขณะที่บางคนนำสิ่งเหล่านั้น มาต่อยอดเป็นอาชีพ แชร์ความสุขที่จับต้องได้เหล่านี้ออกมาให้คนอื่นๆ ได้เห็น...


#CheezeLooker ชวนมาพูดคุยทำความรู้จักกับ "อาร์ท - ศุภชัย เพ็ชรี่" Prop Stylist หรือ Set Designer แถวหน้าของบ้านเรา งานของเขาผูกพันกับของเก่า (ที่กลายเป็นของสะสมในที่สุด) และของใหม่ที่ต้องสร้างขึ้นมา สิ่งนี้จุดประกายให้เขากลายเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติ ด้วยวิธีการใช้ชีวิต และการเป็นแบบอย่างที่ดีกับคนรอบตัวมาเป็นเวลากว่าสิบปี!
.
.
.

จากความชอบเรื่องแฟชั่น สู่วันที่ทำเป็นอาชีพ

"ก็น่าจะเริ่มตั้งแต่เกิด คุณพ่อ คุณแม่เป็นช่างเย็บผ้า เราเลยโตมากับเสื้อผ้า อาจจะไม่ใช่เรื่องแฟชั่นโดยตรง แต่ก็อยู่กับผ้า กับสิ่งทอมาตั้งแต่จำความได้ แต่ลึกๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องศิลปะมากกว่าที่เราสนใจ และผูกโยงตัวเองกับเรื่องนี้ได้ง่ายกว่า เรียกได้ว่ามีเรื่องศิลปะอยู่ในหัวตลอดเวลา แต่สุดท้ายก็หนีแฟชั่นไม่พ้น เพราะมีโอกาสได้ทำงานนิตยสารตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ตอนนั้นเป็นช่างภาพและ Stylist ควบคู่ไปด้วย จากงานถ่ายภาพในยุคอะนาล็อก ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ซึ่งเริ่มมีเรื่องค่าใช้จ่ายมาเกี่ยวข้อง เลยคิดว่าเราควรจะเปลี่ยนมาทำงาน Stylist อย่างเดียว พอดีกับที่ตอนนั้นนิตยสารปิดตัว เลยตัดสินใจทำงานด้านนี้อย่างเต็มตัว...


"แต่เราก็ได้พบกับความเป็นจริงว่า...ตอนทำงานนิตยสาร เราสามารถยืมเสื้อผ้าได้โดยไม่ต้องซื้อใหม่เพื่อใช้ครั้งเดียว แต่พอเป็นฟรีแลนซ์ เราจะต้องมีการลงทุนแล้ว ทำไปสักพัก ก็เริ่มเห็นว่าทำไมที่บ้านมีรองเท้าที่เราไม่ได้ใช้เยอะจังเลย จะเก็บไว้ก็ใส่ไม่ได้ หรือจะเก็บให้ดียังไงก็พัง เพราะเวลาซื้อของทำงาน มันซื้อของแพงไม่ได้ คุณภาพมันเลยไม่ดี ระหว่างที่เคลียร์พื้นที่ในบ้าน ก็จะเห็นขยะอยู่รอบตัวไปหมด ตอนนั้นเริ่มรู้สึกแล้วว่า...เราทำอาชีพนี้ไม่ได้แล้ว ด้วยความที่มันไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่เรากำลังพยายามปรับเปลี่ยนอยู่"


การ "เปลี่ยน" ครั้งสำคัญ

"ตอนเป็นช่างภาพ เราพักอยู่ที่ห้องเล็กๆ แต่พอย้ายมาอยู่ที่นี่ ทำให้เราเริ่มมีการแต่งบ้าน เก็บของมากขึ้น ทั้งของที่ชอบ และของที่ต้องใช้ทำงาน จนเห็นข้อแตกต่างระหว่างของเก่าที่เราชอบ กับของใหม่ที่มันตามเทรนด์แฟชั่น...ช่วงนั้นเราก็เริ่มทำงาน Prop Stylist เพราะเป็นสิ่งที่ทำแล้วมีความสุขและมันน่าจะทำเป็นอาชีพได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ถึงแม้เราจะซื้อของที่เป็น Trash ของคนอื่น แต่มันก็เป็น Treasure ของเรา ซึ่งเราผ่านกระบวนการทิ้ง การเลือก มาพอสมควร จนสุดท้ายเราจะเก็บเฉพาะของที่ใช้ประโยชน์ต่อในงานของเราได้ ไม่ใช่ของที่ซื้อมาเพื่อรอวันทิ้ง"


การทำงานในโลกแฟชั่นกว่าสิบปี หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่คนจะตัดสินไปแล้วว่าคุณอยู่ในระบบของ
Fast Fashion ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขยะให้โลกใบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด?

"แต่ถ้าเราชัดเจนกับตัวเอง เราจะเริ่มเลือกที่จะไม่ทำงานที่เราไม่สบายใจได้ โดยที่ไม่ย้อนแย้งกับตัวเอง อย่างเช่น งานที่มันฉาบฉวยมากๆ ใช้แล้วทิ้ง หรือถ้าสร้างมาแล้ว ก็ต้องใช้ให้คุ้ม ซึ่งถ้าใครเคยพลาด ไม่เป็นไร ครั้งหน้าเริ่มใหม่ ถ้ามันยังหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ ก็ทำให้มันน้อยที่สุด และถ้าเป็นไปได้ในครั้งต่อไปก็ไม่ทำเลยดีกว่า...


"มองอีกมุมหนึ่ง ถ้าเราไม่ทำ คนอื่นก็ทำอยู่ดี แต่ถ้าเรายังทำด้วยความรับผิดชอบ มันอาจจะลดสิ่งที่คนอื่นจะทำก็ได้ ขยะที่มันอาจจะมีจำนวนหนึ่งตันจากคนอื่น อาจจะเหลือแค่ 200 กิโลกรัม จากสิ่งที่เราทำได้ ช่วยได้ เปลี่ยนได้ แทนที่จะใช้ชีวิตแบบหลับหู หลับตา ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ"


จุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณได้ "เรียนรู้" และ "รู้จักตัวเอง" ให้หันกลับมาแคร์โลก เริ่มตั้งแต่ตอนไหน
?

"จริงๆ เราอยู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่โครงการตาวิเศษที่แก้ปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา จนมีวันหนึ่งเราไปเที่ยวเกาะพีพี ตอนอยู่บนเรือ เห็นขวดน้ำลอยอยู่เยอะมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ พอกลับบ้านมาก็เริ่มจริงจังมากขึ้น แยกขยะแบบง่ายๆ เท่าที่ทำได้ แล้วก็เริ่มแยกให้จริงจังมากขึ้น มันแค่อาจจะยากในตอนแรก แต่ว่าสุดท้ายแล้วพอทำไปเรื่อยๆ ทุกวัน มันจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวันในที่สุด...




"สิ่งที่เราพยายามบอกเพื่อนๆ เวลามาบ้านคือ...มันอาจจะเป็นเวลาแค่ 5 นาที ในการทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ เราขอไม่เรียกว่าขยะ เพื่อที่จะเอาไปแยกทีหลัง เทียบกับเวลา 2,000 ปี ที่มันจะอยู่บนโลก ในการกำจัดได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ มันเทียบไม่ได้เลย กับเวลาไม่กี่นาทีของเรา...


"เวลามีเพื่อนมาขอคำแนะนำว่าควรแยกขยะที่บ้านยังไง เราจะถามก่อนเลยว่าสะดวกทำได้แค่ไหน เพราะว่ามันต้องใช้เวลากว่าจะหาตรงกลางได้ ลองดูก่อนว่าทำได้แค่ไหน ซึ่งถ้าเราเริ่มจากเรื่องยากๆ ทำได้แป๊บเดียวก็เลิกแล้ว แต่ต่อให้แยกขยะได้แค่สามอย่าง แต่ทำไปจนตาย ผลมันยิ่งใหญ่กว่าเราทำแบบซีเรียสเต็มที่แค่สามเดือน"




จะดูแลโลกนี้ให้เอง...

"คุยกับเพื่อนคนหนึ่งที่มีลูก เขาก็อยากทำแบบเรานะ แต่สิ่งที่เขาต้องโฟกัสในทุกวันคือการเลี้ยงลูก เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่เป็นไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฉันเอง เธอแค่ผลิตเจเนอเรชั่นใหม่มาดีๆ แล้วเดี๋ยวฉันจะดูแลโลกนี้ให้ เพราะว่าเราไม่อยากให้เด็กๆ ต้องใส่หน้ากากป้องกัน PM 2.5 ตั้งแต่อายุสองขวบ ทั้งๆ ที่ควรได้ออกไปวิ่งเล่นในสวนสาธารณะในวันที่อากาศดีๆ แม้กระทั่งหมาแมวของเราเอง มันไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่ต้องมาสูดอากาศที่มนุษย์ทำอยู่ และสิ่งที่เป็น Turning Point จริงๆ คือเราไม่อยากให้ตอนที่เราแก่ อาจจะแค่ในอีกสิบหรือยี่สิบปีนี้ด้วยซ้ำ แล้วเด็กที่โตมา ถามว่านี่คือโลกที่คุณลุง คุณป้าสร้างไว้ให้หนูเหรอ? ไม่ต้องทำให้หนูเกิดมาก็ได้ ถ้าต้องมาอยู่กับโลกแบบนี้…

"ความทรงจำของเราในตอนเด็กที่ว่ายน้ำในทะเลได้อย่างสบายใจ วิ่งเล่นสูดอากาศบริสุทธิ์ กินผักผลไม้ที่ปลอดสารพิษ มันเป็นสิ่งที่คนรุ่นต่อไปก็ควรจะต้องได้รับด้วยหรือเปล่า?!!"


อย่า
– หยุด - ทำ

"ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มี Follower เยอะ แต่บางทีคนที่ตามเราอยู่ อาจมีอิทธิพลต่อความคิดคนอื่น เมื่อเขาเห็นสิ่งที่เราทำ แล้วไปสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ก็เท่ากับเราส่งต่อแรงบันดาลใจนั้นถึงคนอีกกลุ่มหนึ่งทางอ้อม เราไม่มีทางรู้เลยว่า...เราจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครคนใดคนหนึ่งเมื่อไหร่ แต่ถ้าเราหยุดทำ มันจะไม่มีสาส์นอะไรส่งไปเลย และถ้าเราส่งมันไปเรื่อยๆ ทุกวัน คนรับจะไม่รู้สึกว่าโดนยัดเยียด แล้วเค้าก็จะรู้สึกว่ามันทำได้จริง...

"ตอนนี้เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า...คนที่กำลังแยกขยะ หรือกำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นนักอนุรักษ์ มันเป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้จริงๆ ไม่มีข้อจำกัด ไม่มีข้อเสียอะไรเลยในการจัดการกับสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา และเป็นความรับผิดชอบของเราโดยตรง"


พื้นที่สีเขียวที่มีไว้เพื่อแบ่งปัน

"ถ้ามีงานที่ต้องเซ็ตติ้งเป็นต้นไม้ เราจะเอากลับมาไว้บนดาดฟ้าของที่พัก บางวันก็จะเห็นนกเป็นสิบชนิด มีทั้งผึ้ง ผีเสื้อ แมลงสวยๆ ขึ้นมาบนป่าคอนกรีตที่เราไม่คิดว่าจะมีสิ่งมีชีวิตมากมายขนาดนี้ นั่นแสดงว่าเรากำลังแชร์พื้นที่ตรงนี้ กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เราไม่เคยใส่ใจเลย และเรากำลังเปลี่ยนสถานที่ๆ ไม่น่าอยู่ ให้มันน่าอยู่ได้จริง เห็นมั้ยว่าแค่ทำเพื่อตัวเองแค่นี้ ยังทำได้เลย ถ้าทุกคนช่วยกันทำ แค่เริ่มจากในบ้านตัวเองก็ได้ มันจะเพิ่มจุดสีเขียวให้เมืองได้อีก ลองทำในลิมิตที่เราได้ แบบไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกลำบาก เพราะว่าสิ่งสำคัญคือเราต้องทำไปจนวันตาย มันไม่ควรจะเป็นแค่เทรนด์ แต่มันควรจะเป็นสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวัน"


"เปลี่ยน" จนคนมองว่า "แปลก"

"ตอนแรกเลยคือการไปตลาด เรื่องถุงผ้านี่แหละ สิบปีที่แล้วเป็นเรื่องยากมาก เราทำงานแฟชั่น มันก็จะมีถุงผ้าสวยๆ มาให้เราใช้เสมอ เราก็จะเอาไปใส่ผักผลไม้ แต่แม่ค้าไม่ใส่ให้ ก็ยืนเถียงกันอยู่หน้าแผงผัก (หัวเราะ) บอกเขาว่าใส่มาเถอะไม่เป็นไรหรอก ถึงเปื้อนก็ซักได้ เขาก็จะมองเราแบบงงๆ...

"แล้วก็เรื่องการล้างถุงพลาสติกแบบ Single Use ก่อนทำการแยกขยะ เรื่องนี้เราได้รับแรงบันดาลใจจากคนอื่นที่ทำก่อนหน้าเราแบบจริงจังมาตั้งแต่แรก ซึ่งถ้ามีคนทำได้ เราต้องทำได้ มันก็ไม่ได้ยาก ตอนเพื่อนมาบ้าน ก็ยังไม่กล้าบอกนะ พอพวกเขากลับ เราก็จัดการหยิบมาล้างทีละชิ้น...




"หลังจากนั้น มันก็เริ่มมีบทสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องนี้ในพื้นที่โซเชี่ยลของเรา จนทุกวันนี้เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องประหลาดอีกต่อไปแล้ว รู้สึกว่าโคตรโชคดีเลย ที่พวกเรายังรู้ตัวทัน ในการเริ่มเปลี่ยนแปลง แล้วการเปลี่ยนแปลงนี้ มันไม่ได้ยากลำบากจนเกินไป เหมือนสมัยก่อน ต้องขอบคุณคนล้างถุงขยะตั้งแต่รุ่นแรก ถ้าไม่มีเขา เราก็คงยังทิ้งของอย่างนั้นไปเรื่อยๆ...ถ้าจัดการดีๆ มันก็ไม่ใช่ขยะ"


รักโลก แคร์โลก ในแบบของคุณเป็นแบบไหน?

"เป็นแบบที่ 'Greta Thunberg' (Climate Activist) พูดว่าขอให้ตื่นตัวต่อวิกฤติเรื่องสภาวะอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เหมือนบ้านของคุณกำลังถูกไฟไหม้ ('…I want you to panic. I want you to feel the fear I feel every day, and then I want you to act. I want you to act as you would in a crisis. I want you to act as if our house is on fire. Because it is.')

"เราฟังแล้วรู้สึกว่า...เฮ้ย! ถ้าโลกนี้คือบ้านของเรา แล้วมันถูกไฟไหม้อยู่ เราจะทำอะไรได้บ้าง บางคนยอมสละชีวิตตัวเองได้ นาทีนั้นมันทำได้ทุกอย่าง ถ้าเราสร้างบ้านนี้มากับมือ เราก็อยากยกมันให้ลูกให้หลานต่อได้ เราไม่อยากยกบ้านโทรมๆ ให้พวกเขาไปจัดการใหม่...


"อย่างในชีวิตประจำวัน ถ้ากินอาหารที่ร้านได้ เราจะไม่ซื้อกลับบ้าน ถ้าเจอร้านไหนใช้กล่องโฟม ก็เป็นหน้าที่ของเราแล้วว่าจะเลือกอะไร ไม่ใช่ความผิดของเขาหรอก แต่เขาอาจจะแคร์ไม่มากพอ และมันอาจจะมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่เราไม่รู้ ซึ่งถ้าเราเปลี่ยนเขาไม่ได้ เราก็เปลี่ยนตัวเองแทน เอากล่องไปมั้ย หรือเลือกไปร้านที่ใช้บรรจุภัณฑ์ปลอดภัยแบบย่อยสลายได้ เพราะถ้าร้านๆ หนึ่งยอมเปลี่ยนมาใช้กล่องกระดาษ หนึ่งคือเค้าแคร์สิ่งแวดล้อม สองคือแสดงว่าเขาแคร์อาหารที่ทำให้เรากิน...

"ซึ่งตอนนี้ การที่ได้เห็นบริษัทใหญ่ๆ อย่าง SCG ให้ความสำคัญและมีนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในเรื่องนี้ อย่างพวกบรรจุภัณฑ์อาหารปลอดภัย 'Fest' (เฟสท์) ที่นอกจากสะอาด ใส่อาหารได้ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะสามารถย่อยสลายได้ภายใน 90 วัน ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยและทางเลือกที่ดีของพวกเรา รวมถึงร้านค้าต่างๆ ที่จะเปลี่ยนมาใช้...ตอนที่เห็นร้านข้าวแถวบ้านเปลี่ยนไปใช้กล่องกระดาษ เราถึงกับอยากเดินไปขอบคุณและอุดหนุนเขาไปเรื่อยๆ เลย"



 

จากอาชีพที่ทำอยู่ คิดว่าได้ช่วยเรื่องการรักษ์โลกในแง่ไหนบ้าง?

"มันอาจจะไม่อินสไปร์ทางตรง แต่เป็นทางอ้อมมากกว่า พอเราเอาของเก่ามาอยู่กับของใหม่ ทำให้มีความร่วมสมัยได้ คนที่เห็นก็จะเริ่มรู้แล้วว่า เขาจะใช้ชีวิตยังไงกับของที่เคยไม่มีประโยชน์ และจะใส่ใจกับของที่มันมีคุณภาพมากขึ้น มากกว่าของที่ตามเทรนด์หรือฉาบฉวยมากเกินไป ส่วนที่มันเกี่ยวกับงานเราจริงๆ คือ...มันเก๋ได้นะเว้ย! ถ้าเราเอาของวินเทจมาผสมกับของใหม่มันอาจจะมีความน่าสนใจกว่า ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง"


ความรู้สึกหลังจากได้ดูหนังสั้น "เปลี่ยน…เพื่อโลกที่คุณแคร์"

"เราอินกับเรื่อง PM 2.5 มากที่สุด เพราะอากาศเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้เลย ต่อให้เราทำบ้านเมืองสะอาด แต่ถ้าประเทศใกล้เคียงเกิดมีวิกฤติขึ้นมา เราก็ได้รับผลกระทบไปด้วยทันที หนีไปไหนไม่ได้...มีคำพูดหนึ่งของ 'Johan Rockström' จากสารคดี 'Breaking Boundaries: The Science of Our Planet' เขาพูดประมาณว่า...ต่อให้คุณไม่ห่วงใยโลกนี้เลย และต่อให้คุณไม่สนใจความเท่าเทียมบนโลกนี้ จะเห็นแก่ตัว สนใจแค่ตัวเองหรือครอบครัวของคุณมากว่า แต่ขอให้ทำเหอะ เพราะสิ่งที่คุณจะได้รับเลยในทันทีคือ 'อากาศที่ดี' 


"ถ้าเราแยกขยะ เราก็ไม่ต้องเผา มลพิษก็น้อยลง เราเริ่มมีป่าไม้ มีแม่น้ำที่ดีแล้ว แต่ว่าอากาศมันยังไม่ดี จะออกไปไหนก็ไม่ได้ เด็กๆ ควรจะได้วิ่งเล่น หายใจสูดอากาศบริสุทธิ์แบบเต็มที่ แต่ก็ทำไม่ได้ เจนเนอเรชั่นต่อไป ต้องเจอกับ PM 2.5 ตั้งแต่เกิดแบบนี้น่ะเหรอ? รู้สึกว่ามันยังเป็นเรื่องที่ถูกละเลย...มีคนเคยพูดกับเราช่วงที่กรุงเทพฯ เจอ PM 2.5 หนักๆ ว่า ทนหน่อย เดี๋ยวมันก็ไปแล้ว...แต่ไม่ใช่ไง! มันแค่ไปที่อื่น ไม่ได้หายไป นอกจากต้องแก้ปัญหาแล้ว ก็ต้องฟื้นฟูและลดการเกิดใหม่ด้วย"


การ "เปลี่ยน" แบบไหน ที่คุณใฝ่ฝันอยากจะเห็นมากที่สุด
?

"อยากให้ 'ทุกคน' มีสิทธิ์เข้าถึงธรรมชาติที่ดีได้ โดยที่ไม่ต้องมีข้อจำกัดในเรื่องเงิน"
 

เปลี่ยน...เพื่อโลกที่คุณแคร์

"มันจะเห็นผลช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับว่าเราคาดหวังอะไร แต่แค่เรา 'เปลี่ยน' มันจะได้ผลดีตอบแทนมาทันที ไม่เรื่องใดก็เรื่องหนึ่ง ถ้าเราอยากเห็น หรืออยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ก็ต้องลองทำก่อน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ แล้วเราจะเริ่มเห็นว่า เปลี่ยนแล้วดียังไง พอมันเกิดกำลังใจ เราก็จะทำให้มันใหญ่ขึ้น มันก็อาจจะสร้างแรงบันดาลใจต่อคนอื่นได้...

"วันหนึ่งโลกใบเล็กๆ ของเรา เมื่อรวมกับโลกของคนอื่นๆ มันอาจจะกลายเป็นจักรวาลขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่ลงมือทำ มันก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย"
.
.
.

 
#CheezeLooker Recommended!


ลองถามตัวเองอีกทีว่า "สิ่งที่เรารัก" คืออะไรบ้าง
?
ถ้าเราไม่ช่วยรักษา สิ่งเหล่านั้นอาจหายไปในพริบตา เราจึงต้อง "เปลี่ยน" ก่อนที่โลกจะพังไปมากกว่านี้...
เพราะ "มนุษย์" คือสิ่งมีชีวิตที่ควรร่วมกันรับผิดชอบ ทะนุถนอม และทำให้บ้านหลังใหญ่นี้ค่อยๆ ดีขึ้น
เพียงเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คนละเล็ก คนละน้อย
โดยไม่รู้ตัว แต่ทำให้เป็นนิสัย เพื่อที่เราจะได้มีโลกนี้ให้อาศัยและได้ทำในสิ่งที่รักต่อไป

มาร่วมเปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์ได้ที่ >> https://bit.ly/3gmzCyY

 
#CheezeLooker #Recommended #SCG #CHANGE #เปลี่ยนเพื่อโลกที่คุณแคร์ #ClimateEmergency #ภาวะโลกร้อน