"ครั้งแรกของคุณเลือดออกไหม?" มาสัมผัสประสบการณ์ VIRTUAL MUSEUM ที่สร้างจากเรื่องจริง ของผู้หญิงที่ไม่เคยลืมครั้งแรกของเธอได้เลย

#MuseumofFirstTime
30.11.2021
1343
Shares
คุณยังจำครั้งแรกได้ไหม? 

จากสถิติของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายในช่วง COVID-19 ในกรณีศึกษาประชาชนอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,692 คน ซึ่งเก็บข้อมูลวันที่ 17-23 ตุลาคม 2564 พบว่า พฤติกรรมที่สะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ ความรุนแรงทางวาจา(การพูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ) ร้อยละ 53.1 รองลงมา ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว ร้อยละ 35.0 ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ ร้อยละ 22.6 ทำร้ายร่ายกาย ร้อยละ 20.2 นอกใจคบชู้ ร้อยละ 18.9 และยังพบว่าผู้กระทำทำขณะเมาเหล้าหรือหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 31.4



ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบันมีผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เข้ามาขอคำปรึกษาจากฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลจำนวน 71 ราย พบว่าทุกเคส หรือ 100% ถูกกระทำซ้ำ นั่นหมายถึงผู้หญิงเหล่านี้ถูกกระทำความรุนแรงจากคนในครอบครัวมามากกว่าหนึ่งครั้ง และมักจะใจอ่อน เมื่อฝ่ายชายขอโทษหรือกลับมาทำดีให้ และถูกทำร้ายอีกนับครั้งไม่ถ้วน! 


มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงหยิบข้อมูลและอินไซต์นี้ ร่วมมือกับเอเจนซี่โฆษณา วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย (ที่เคยสร้างสรรค์แคมเปญ #บ้านไม่ใช่เวทีมวย) อิเล็กโทรลักซ์ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกันสร้างสรรค์แคมเปญกระตุ้นจิตสำนึก เนื่องในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งตรงกับวันยุติความรุนแรงในเพศหญิง กับคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ชื่อว่า #ให้มันจบที่ครั้งแรก ขยี้อินไซต์ของผู้หญิงทุกคนที่มักจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นครั้งแรกกับตัวเองได้ รวมไปถึงการถูกทำร้ายครั้งแรก


แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน อีเว้นท์และการเดินรณรงค์ที่ปกติมูลนิธิจัด จึงไม่สามารถจัดขึ้นได้ ทางครีเอทีฟ วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย จึงคิดโซลูชั่นนำไอเดียที่ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถสัมผัสประสบการณ์ครั้งแรกได้ ด้วย Virtual Museum ที่เป็นเทรนด์การเดินชมมิวเซี่ยมหรือแกลลอรี่เสมือนจริง โดย Disrupt คอนเซ็ปต์นี้ให้กลายมาเป็น "Museum of First Time" ครั้งแรกของเมืองไทยกับพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริงของเหยื่อที่ถูกทำร้ายร่างกาย เปิดประสบการณ์ครั้งแรกแบบ Immersive Experience ที่ให้เราสามารถมองเห็นในรูปแบบ 360 องศา กับการจำลองบรรยากาศและเรื่องราวที่สร้างขึ้นจากเรื่องจริงของเหยื่อผู้ถูกทำร้าย


โดยเรื่องราวจะเริ่มต้นตั้งแต่เปิดประตูเข้าบ้าน เรื่องราวความโรแมนติกที่หอมหวาน ของขวัญชิ้นแรก รูปคู่รูปแรก ไปจนถึงความรักที่เริ่มขม เริ่มถูกทำร้ายครั้งแรก สัญญาครั้งแรกว่าจะไม่ทำอีก ไปถึงดีกรีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น การกักขังหน่วงเหนี่ยวไปจนถึงการทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บเลือดตกยางออก โดยตอนพีคของทัวร์พิพิธภัณฑ์นี้ ทุกคนจะพบกับวิดีโอของคนต้นเรื่อง ที่เซอร์ไพร์สเราได้ไม่น้อยเลย ในตอนจบสามารถแชร์เรื่องราวของเราได้ในเว็บไซต์โดยไม่ต้องเขียนชื่อตัวเอง และถ้าเราอยากแชร์ประสบการณ์เหล่านี้ให้เพื่อนๆ ก็มีปุ่มแชร์ Ticket หรือตั๋วเข้าชมพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนที่คุณแคร์ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์แห่งครั้งแรกได้เช่นกัน สามารถเข้าชม Museum of First Time ได้ผ่านทางสมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ 


มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยวิธีการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ถูกใช้ความรุนแรงในครอบครัวความรุนแรงทางเพศได้เข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยมีช่องทางการร้องทุกข์ทางเบอร์โทรศัพท์ 02-513-2889 หรือทาง Facebook "มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล" ซึ่งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลมีอาสาสมัครทนายความให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย มีนักสังคมสงเคราะห์ให้คำปรึกษาโดยเน้นการเสริมพลังให้กับผู้ประสบปัญหา และมีเครือข่ายกลไกภาครัฐที่จะให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองเพื่อให้ผู้หญิงได้หลุดพ้นจากปัญหา อีกทั้งมูลนิธิยังมีการรณรงค์สื่อสารเพื่อให้สังคมเห็นปัญหาจากทัศนคติวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ว่านำไปสู่การเกิดปัญหาความรุนแรงอย่างไร ซึ่งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้นจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับทัศนคติและวิธีคิด โดยหวังว่าสังคมจะเกิดความเท่าเทียมทางเพศได้


ใครที่สนใจเข้าชม Museum of First Time ก็ตามเข้าไปรับประสบการณ์ได้ที่ www.museumof1sttime.com ได้แล้วตั้งแต่วันนี้ แล้วอย่าลืมช่วยกันแชร์ช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้ผู้หญิง และบอกผู้ชายที่เคยหรือกำลังใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ให้ยุติความรุนแรงในเพศหญิงไปพร้อมๆ กัน!


#CheezeLooker #News #MuseumofFirstTime 

RECOMMENDED